ธรรม คือ ธรรมชาติ ธรรม คือ การปฏิบัติหน้าที่ และในการปฏิบัติหน้าที่ของมนุษย์ ให้ถูกต้องสมบูรณ์มีสุขภาพกายดี แม้จะเปลี่ยนแปลงไปโดยสภาพธรรมชาติ และมีความแตกต่างกัน ในแต่ละบุคคลแต่สุขภาพจิตเน้นสิ่งสำคัญ ที่จะต้องประคับประคองรักษาไว้ เพราะ “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” การประคับประคองดูแลรักษาจิต จึงนับได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เปรียบรถยนต์ กายคือ ตัวถังรถ ส่วนจิตคือเครื่องยนต์ เครื่องยนต์เสียรถก็ไปไหนไม่ได้ ฉันใดฉันนั้น การประคับประคองดูแลรักษาจิต สำหรับพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ควรได้เทิดทูนพระคุณของพระพุทธเจ้า ไว้เหนือเศียรเกล้าตลอดเวลา และตระหนักในพระวิสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ และพระกรุณาธิคุณ
สาเหตุที่ต้องเทิดทูนพระคุณของพระพุทธเจ้าเพราะเป็นผู้สอน และชี้แนวของการปฏิบัติตน เพื่อความสงบสุขของสภาพจิตใจ การสอนเกี่ยวกับ “ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา” หัวข้อนี้จะช่วยให้ผู้สนใจได้หยิบยกมาคิด และทำความเข้าใจ พร้อมทั้งปฏิบัติตาม แม้จะยากแต่การคิดบ่อยๆ จะช่วยให้เข้าใจชีวิตแจ่มแจ้งชัดเจนขึ้น และยอมรับสภาพการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ง่ายและเร็วขึ้น ผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านจิตใจมากบ้าง น้อยบ้าง หากเข้าใจถึงคุณประโยชน์ของ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา จะช่วยให้เข้าใจแก่นแท้ของชีวิต และการดำเนินชีวิตได้อย่างมีสาระประโยชน์ ไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่ในช่วงวัยใดๆ
ในธรรมของพระพุทธเจ้า เกี่ยวกับการดำเนินของมนุษย์ที่ได้กล่าวว่า แต่ละคนมีกรรมเป็นแดนเกิด มีการเป็นผู้ให้ผล มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ ทุกคนเป็นไปตามกรรม ในข้อนี้ ก็เป็นการสอนชี้ให้เห็นเกิดความจริง เพื่อไม่ให้ประมาท ให้ละความประมาท ให้เร่งประกอบความดีงาม ประกอบกุศลกรรม เพื่อจะเป็นแนวทางนำบุคคลสู่ความดีงาม ความถูกต้องงดงามในชีวิต หากคิดแต่เพียงว่าเกิดมาดีแล้ว หรือไม่ดีเลย ก็จะไม่ทราบจะสร้างคุณงามความดีไปทำไม การสร้างความดีงามนั้นเพื่อความสุขใจ ความอิ่มเอิบใจ และเป็นการสร้างความมีคุณค่าให้แก่ตนเอง ผู้ที่ได้รับผลการกระทำความดีงามนั้น ผู้กระทำย่อมได้รับผลก่อนผู้อื่นเสมอ และผู้ใกล้ชิดก็จะได้รับผลแห่งการกระทำนั้นเป็นอันดับต่อมา เพราะผู้ให้ ผู้ปฏิบัติดี ผู้ปฏิบัติชอบเป็นที่รักใคร่และเป็นที่เคารพนับถือเสมอ การไม่ปฏิบัติให้อยู่ในความดีงาม หรือสิ่งที่ถูกต้องจะเป็นผลให้ผู้ปฏิบัติเร่าร้อนใจ นั่งนอนไม่เป็นสุข ผู้ใกล้ชิดก็เดือดร้อนไปด้วย ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงสิ่งที่เห็นได้ในปัจจุบัน และผู้ที่ได้ปฏิบัติ จักพึงเห็นได้อย่างชัดเจนด้วยตนเอง ทั้งปัจจุบันและอนาคต
ธรรมปฏิบัติ ในที่นี้ใคร่ขอแยกออกเป็นดังนี้
1. การสวดมนต์ ถือว่าเป็นการสวดระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์มีหลายแบบ มั่นใจว่าผู้สูงอายุทุกท่านจะได้ปฏิบัติอยู่แล้วเป็นประจำ และการสวดมนต์นั้นมีทั้งสวดภาษาบาลี และแปลเป็นไทย ซึ่งช่วยให้ผู้สวดเกิดความเข้าใจ และซาบซึ้งในคำสวดได้มาก ต่อประโยชน์ชวนให้อยากสวดเพราะมีความรู้ และเข้าใจทุกประโยค การสวดมนต์ถ้าปฏิบัติได้เป็นประจำ ถือว่าเป็นการปฏิบัติดีอย่างหนึ่ง
2. การถือศีล 5 ศีล 8 และอุโบสถศีล มีความมุ่งหมาย เพื่อให้บุคคลสำรวมกาย วาจาใจลดละความพึงพอใจบางอย่าง และสร้างความดีงามเพิ่มขึ้นด้วยการไปวัด ฟังธรรมตามสภาพร่างกาย และสิ่งแวดล้อมจะเอื้ออำนวย ขณะฟังธรรม และจะให้เกิดผลจริงๆ จะต้องคิดติดตามไปด้วยทุกขั้นตอน การถือศีล 5 เป็นปกตินิสัย ถือว่าสร้างความเจริญให้ชีวิต เพราะศีล 5 ถือว่าสร้างความเจริญให้ชีวิต เพราะศีล 5 จะช่วยให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ เดือดร้อนวุ่นวายเพราะสมาชิกแต่ละคนไม่ปฏิบัติตนตามศีล 5 ให้ครบถ้วน ซึ่งแต่ละข้อในศีล 5 นั้นมีความสำคัญเกี่ยวพันกัน จะขาดข้อใดข้อหนึ่งทำให้ชีวิตไม่สมบูรณ์ มีความบกพร่องเกิดขึ้นในครอบครัว และสังคมได้มาก
3. การเจริญสติ คือ การกำหนดอิริยาบถให้ทันปัจจุบัน และรับรู้ความรู้สึกตามทวารต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ ตลอดเวลาให้มากที่สุด ความรู้สึกของคนมีทางรู้อยู่ 6 ทาง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้กำหนดรู้ไปตามจริงที่ใจรู้พร้อมกับ กิริยาเคลื่อนไหวอื่นๆ ทำอะไร ก็ให้มีสติกำหนดให้รู้ให้ทันปัจจุบันให้มากที่สุด
อิริยาบถใหญ่คือ กานยืน เดิน นั่ง นอน อิริยาบถย่อยคือ การเคลื่อนกายทุกกิริยา เช่น การรับประทาน ดื่ม เคี้ยว กลืน เหลียว ก้ม เงย หยิบ ยก ตลอดจนการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะควรพยายามกำหนดให้ได้มากทุกคน ไม่มีใครกำหนดได้ทุกกิริยา ย่อมมีการพลั้งเผลอ เมื่อเผลอก็ให้กำหนดตามความเป็นจริงว่า “เผลอหนอ”
ในการเดินจงกรม นั่งสมาธิ และเจริญสตินี้การเจริญสติ จัดว่ามีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง การเดินจงกรมมีความสำคัญเป็นอันดับสอง และการนั่งสมาธิมีความสำคัญเป็นอันดับสาม ในอันที่จะทำให้เกิดปัญญา เมื่อเจริญสติกำหนดรู้ให้ต่อเนื่องกัน จิตจะสงบลงได้ ความฟุ้งซ่านจะน้อยลง จะเกิดความคิดถูก รู้ถูก พูดถูก ทำถูก ซึ่งเรียกว่า ปัญญา เหตุนั้น ปัญญาจึงเป็นสิ่งที่รอบรู้ รู้รอบในเหตุการณ์ต่างๆ จะคิดสิ่งใด พิจารณาสิ่งใด ก็ต้องพิจารณาด้วยเหตุผล และพิจารณาให้รู้เห็นตามหลักความจริงในสิ่งนั้นๆ (พระอาจารย์ทูล 49) ปัญญาหรือความดำริชอบ เป็นวิชาแก้ปัญหาโลก-ปัญหาธรรมได้อย่างถูกต้อง และดียิ่ง ผลพลอยได้ที่ตามมา คือ การพัฒนาจิตให้เกิดปัญญา และความสันติสุข
4. การปฏิบัติสมาธิภาวนา และวิปัสนาภาวนา ขั้นแรกคือ การทำสมาธิเพื่อให้จิตสงบ รวมเป็นหนึ่ง เมื่อฝึกจิตสงบได้ดีแล้ว ซึ่งใช้เวลานานแตกต่างกัน ในแต่ละคนจึงปฏิบัติขั้นต่อไปคือ วิปัสนาภาวนา ซึ่งผู้ปฏิบัติ จะต้องมีอาจารย์ผู้สอนแนะแนวทาง จึงจะเกิดความเข้าใจ และนำไปปฏิบัติต่อไปด้วยตนเอง
5. การเดินจงกรม มีหลายแบบหลายวิธีแต่ทุกๆ วิธีมีจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกันคือ ให้จิตเกิดสมาธิ ผลที่ได้ควบคู่กับการเดินจงกรมคือ การเคลื่อนไหวร่างกาย มีเลือดสูบฉีดไปเลี้ยงส่วนปลายของร่างกาย โดยเฉพาะเท้าได้ดีขึ้น เวลาที่ใช้ในการเดินแต่ละครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย สำหรับวิธีการเดินนั้น ผู้สนใจจะต้องศึกษาจากครูอาจารย์ ผู้รู้จะช่วยแนะแนวทางที่ถูกต้อง และบรรลุผลได้
สรุปผลจากปฏิบัติสมาธิภาวนา วิปัสนาภาวนา การเจริญสติ และการเดินจงกรมให้เน้นธรรมชาติที่มนุษย์มีอยู่แล้วคือ ลมหายใจ การเดิน การนั่ง การสำรวมอิริยาบถของตนเอง ให้ได้ในทุกอิริยาบถจะช่วยไม่ให้เกิดความพลั้งเผลอ การเดินพลาดหกล้ม ก้าวพลาด และอื่นๆ ที่จะเป็นอันตรายต่อร่างกายจะได้ไม่เกิดขึ้น
+0 -0
สิ่งอำนวยความสะดวก
1.ที่จอดรถ
- ที่จอดรถสำหรับผู้สูงอายุ/ผุ้พิการ
- ที่จอดรถสำหรับสุภาพสตรี
2.ทางเดิน/บันได
- ทางลาดสำหรับรถเข็น
- ราวจับบันได
- ลิฟท์
- ทางเดินกว้าง (easy walk in access)
- ราวจับทางเดิน
- พื้นไม่ลื่น
3.ห้องน้ำ
- ห้องน้ำคนพิการ/คนสูงอายุ (wheelchairเข้าได้)
- ต้องขึ้นบันไดเพื่อไปห้องน้ำ
- ชักโครก (แบบนั่ง)
- ราวเกาะ
- พื้นไม่ลื่น
4.สิ่งอำนวยความสะดวกพิเศษ
- มีรถเข็น wheelchair / ไม้เท้า บริการ