ขจร

กิจกรรม

ชวนมาปฎิบัติธรรมที่ศูนย์วิปัสสนายุวพุทธฯ เขมรังสี

ศูนย์วิปัสสนายุวพุทธฯ เขมรังสี

วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับ สถานที่ปฎิบัติธรรมแห่งใหม่ ซึ่งที่นี่ น่าจะเป็นที่ถูกใจสำหรับบรรดาผู้สูงอายุ คุณพ่อคุณแม่ หรือแม้แต่บรรดาคุณลูกๆ ที่อยากหาสถานที่ ในการพักผ่อน สงบจิตสงบใจ หรือหาสถานที่ในการปฎิบัติธรรม ให้กับคนในครอบครัว

“ศูนย์วิปัสสนายุวพุทธฯ เขมรังสี” เชื่อว่าหลายๆ ท่านอาจจะยังไม่ค่อยคุ้นชื่อของที่นี่ เพราะที่นี่เพิ่งเปิดได้ประมาณ 1 ปี กว่าๆ เท่านั้น ที่นี่ เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมซึ่ง เป็นศูนย์ที่ 4 ของยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ได้รับที่ดินจากพระครูเกษมธรรมทัต จำนวน 26 ไร่ และได้ดำเนินการจัดสร้างจนแล้วเสร็จ เปิดดำเนินการในช่วงเข้าพรรษาปี พ.ศ. 2555

วัตถุประสงค์หลักๆ ของที่นี่ เพื่อใช้เป็นธุดงคสถานขั้นก้าวหน้า และอุกฤษฏ์ สำหรับพระสงฆ์ วิทยากร อุบาสก อุบาสิกา ที่มีความพร้อมในการปฏิบัติธรรมแบบเข้มข้น นั่นเอง

ศูนย์วิปัสสนายุวพุทธฯ เขมรังสีศูนย์วิปัสสนายุวพุทธฯ เขมรังสี ตั้งอยู่ที่ หมู่ 6 ตำบลบ้านชุ้ง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งถ้าใครต้องการเข้ามาปฏิบัติธรรมที่นี่ ก็สามารถเดินทางมาได้โดยเข้ามาทางถนน 329 ที่แยกตามรูปได้เลย หรือถ้าเราจะเสิร์ชหาจาก ใน Google Map ก็สามารถเสิร์ชได้ที่พิกัด 14 27.423 100 38.238 ได้เลยครับ

เมื่อขับรถเข้ามาจากปากทางถนนใหญ่แล้ว จะมีถนนคอนกรีตยาวมาจนถึงหน้าศูนย์เลย ซึ่งที่หน้าศูนย์จะมีพระพุทธรูปทรงศิลปะของกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ด้านหน้า เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่า เราได้เดินทางมาถึงจุดหมายของเราแล้ว นั่นเอง

ศูนย์วิปัสสนายุวพุทธฯ เขมรังสีเมื่อขับรถเข้ามาแล้ว ทางศูนย์จะไม่ให้เรานำรถเข้าไปถึงด้านในที่พัก ต้องจอดรถไว้ด้านนอก เพื่อความสงบเรียบร้อยแต่ก็ไม่ต้องกังวลว่า บรรดาคุณพ่อคุณแม่ของเรา หรือผู้สูงอายุจะต้องเดินทางไกล เพราะที่นี่จะมี รถกอล์ฟ อำนวยความสะดวก รับส่งจากด้านหน้า เข้ามาถึงด้านในเลยครับ

ที่ ศูนย์วิปัสสนายุวพุทธฯ เขมรังสี แห่งนี้ จะมีกุฏิปฏิบัติพักเดี่ยว 49 กุฏิ ซึ่งสามารถรองรับหลักสูตรปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ระยะเวลา 10-15 วัน ซึ่งเรือนพักสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม จะสามารถพักได้ กุฎิละ 1 ท่าน เท่านั้น โดยเรือนพักแต่ละหลัง บริเวณทางขึ้นก็จะมีมีบันไดขึ้นลง ที่ไม่สูงมากนัก มีเพียง 6 ขั้น และ มีราวจับ เพื่อให้ผู้ที่มาปฎิบัติธรรม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ สามารถขึ้นลงได้ง่าย


ภายในเรือนพัก เมื่อเปิดประตูเข้าไปแล้ว จะพบกับสวิทซ์ไฟที่ใช้เปิดปิดในห้องพัก ซึ่งเป็นสวิทซ์สองทาง ให้เปิดจากด้านหน้าก่อนเข้าประตู หรือเปิดด้านใน ส่วนที่หน้าประตู ก็จะมีสวิทซ์ สำหรับระเบียงด้านหน้า ด้านข้าง ทำให้ตัวเรือนพักไม่มืดจนเกินไป ในเวลากลางคืน

ด้านในห้อง จะมีเตียงนอน และฟูกปูนอน ที่พอดีนอนสำหรับ 1 ท่าน อยู่ติดกับหน้าต่าง ทำให้อากาศถ่ายเทได้ดีพอสมควร ส่วนอุปกรณ์ในเรือนพักที่ ทางศูนย์ ได้เตรียมไว้ให้ นั้น จะมีอุปกรณ์พื้นฐาน เช่น หมอน ผ้าปู ผ้าห่ม (ไม่ค่อยหนาเท่าไร ถ้าหน้าหนาวควรเอาผ้าห่มมาเอง) เบาะนั่ง ผ้าขนหนูเช็ดของ รวมทั้ง อุปกรณ์สำหรับทานอาหารอีก 1 ชุด

ขณะที่ห้องน้ำ ก็เป็นห้องน้ำที่มีขนาดความกว้างพอสมควร มีหน้าต่างคอยระบายอากาศ และมีการแบ่งห้องเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่ใช้อาบน้ำ กับส่วนห้องน้ำ ด้วยกำแพงกั้น ในส่วนของห้องน้ำก็เป็นแบบชักโครก สามารถทำธุระได้แบบสะดวกสบาย


ที่ ศูนย์วิปัสสนายุวพุทธฯ เขมรังสี ถือได้ว่าเป็นสถานที่ปฎิบัติธรรม ที่มีสภาพแวดล้อมค่อนข้างดี เต็มไปด้วยธรรมชาติ ต้นไม้ เห็นได้จาก บรรยากาศ รวมทั้งทิวทัศน์ของที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นตรงกลาง ระหว่างที่พักทั้งสองข้าง ซึ่งก็คือ ลานธรรม จะเป็นสวนป่า สามารถเดินจงกรม นั่งสมาธิได้ทั้งวัน เพราะมีบรรยากาศร่มรื่นมาก ส่วนบริเวณเรือนพัก ก็มีบรรยากาศดีไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็น ระเบียงบ้านพัก ที่มีวิวคลอง และทุ่งนาข้าว ส่วนอีกด้านก็จะเป็น ลานธรรม ขณะที่หลังเรือนพัก ก็จะเป็นทางเดินจงกรม ซึ่งอยู่ติดกับคลอง นั่นเอง

ที่นี่นอกจากจะมีที่พักแล้ว ในบริเวณส่วนกลาง ที่นี่ยังมี “ศาลาอู่ข้าวอู่น้ำ” สถานที่ที่ไว้ใช้สำหรับตักอาหาร สำหรับแจกน้ำดื่ม รวมทั้งที่นี่ จะมีอุปกรณ์ที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็น ยารักษาโรค เครื่องดื่ม น้ำผลไม้ ชา กาแฟ น้ำขิง ที่กดน้ำร้อน น้ำเย็น ฯลฯ ไว้บริการ ตลอดทั้งกลางวัน และกลางคืน


ปรกติแล้ว ผู้ปฎิบัติธรรมส่วนใหญ่ที่อยู่ที่นี่ จะถือศีลแปด ซึ่งอาหารจะมีมื้อเช้า เวลา 7.00 น. และ มื้อกลางวันเวลา 11.00 น. แต่สำหรับผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ต้องรับประทานอาหารเย็น ทางศูนย์ก็จะจัดเตรียมไว้ให้เป็นพิเศษ ดังนั้น ผู้สูงอายุท่านไหน หรือบรรดาลูกๆ หลานๆ ที่กังวลถึงเรื่องอาหารการกิน ก็สามารถเบาใจในส่วนนี้ ได้เลยครับ และใครที่จะมาปฎิบัติธรรม ที่นี่ ขอแนะนำ ว่าให้เลือกเรือนพัก เบอร์ 35-39 เพราะจะใกล้กับ ศาลาอู่ข้าวอู่น้ำ มากที่สุด ไม่ต้องเดินไกล เหมาะกับผู้สูงอายุ อย่างมากครับ

ถ้ากล่าวโดยสรุปแล้ว ที่ “ศูนย์วิปัสสนายุวพุทธฯ เขมรังสี” แห่งนี้ เป็นอีกหนึ่งสถานที่ ที่เหมาะจะพาคุณพ่อคุณแม่ หรือคนในครอบครัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุ มาพักผ่อน และสงบจิตสงบใจที่นี่ครับ แม้ว่าจะเป็นสถานที่ปฎิบัติธรรม แต่ทางศูนย์ก็เตรียมความพร้อม เตรียมสถานที่ รวมทั้งอุปกรณ์หลายๆ อย่างไว้รองรับผู้สูงอายุ แม้จะไม่ครบหมดทุกอย่าง ก็ตาม แต่ก็ถือว่าสะดวกสบายพอสมควรเลยครับ
ข้อควรรู้ ก่อนเข้า “ศูนย์วิปัสสนายุวพุทธฯ เขมรังสี”

ระเบียบปฏิบัติ
– ผู้เข้าปฏิบัติต้องอยู่ครบ 9 วัน
– งดเว้นจากการพูดคุยสนทนากันเอง ถ้ามีปัญหาข้อข้องใจอันใดให้เรียนถามพระวิปัสสนาจารย์ หรือสอบถาม ผู้ประสานงานโครงการ
– สำรวมสายตารักษาใจ อยู่ในอาการสงบ ไม่ปรากฏด้วยอาการหลุกหลิกลอกแลก
– เข้าไปรายงานผลการปฏิบัติ (ส่งอารมณ์) ตามเวลาที่พระวิปัสสนาจารย์กำหนดให้ ห้ามส่งอารมณ์กันเอง
– งดเว้นการเขียน อ่าน ฟังวิทยุเทป ติดต่อด้วยเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด
– หากเกิดอาการไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ให้ปรึกษาพระวิปัสสนาจารย์หรือผู้ประสานงานโครงการเท่านั้น
– ไม่ออกนอกบริเวณและสถานที่ ที่กำหนดไว้
– งดพบผู้มาเยี่ยมโดยมิได้รับอนุญาตจากพระวิปัสสนาจารย์หรือผู้ประสานงาน
– ไม่ยืนดื่มน้ำหรือรับประทานอาหาร
– ผู้ที่ไม่สามารถปฏิบัติตามวิธีที่พระวิปัสสนาจารย์แนะนำให้ และระเบียบปฏิบัติต่างๆ ที่ทางโครงการกำหนด ทางสมาคมจะขอใช้สิทธิเชิญออกจากการปฏิบัติ

การเตรียมตัวเตรียมใจ
– วางภารกิจการงานทั้งหลายไว้ที่บ้าน ตัดความวิตกกังวลทุกอย่างออกไป
– วางยศศักดิ์ ฐานะ ตำแหน่งหน้าที่ไว้ไม่นำมาด้วย
– วางความรู้เดิมทั้งหมดไว้ ทำตนเป็นคนว่าง่าย ประหนึ่งนักเรียนที่เริ่มเรียนเขียนอ่าน
– รู้ว่าต้องทำตามระเบียบปฏิบัติ และต้องตั้งใจปฏิบัติจนกว่าจะสิ้นสุดโครงการ

การเตรียมของใช้
– เตรียมเสื้อผ้าชุดขาว ให้พอใช้ตลอดเวลาที่อยู่ในโครงการ (มีบริการส่งผ้าซัก)
– เตรียมเสื้อกันหนาว ถุงเท้า (อากาศเย็นในตอนเช้ามืด)
– เตรียมไฟฉาย ยาทากันยุง รองเท้าแตะ นาฬิกาปลุก กระบอกเก็บน้ำร้อน
– เตรียมของใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน หวี ผ้าเช็ดตัว ยาประจำตัว

การแต่งกาย
เพื่อแสดงความเคารพต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และสถานที่ ผู้ปฏิบัติควรแต่งกายดังนี้
1. สุภาพบุรุษ
– สวมเสื้อผ้าชุดสีขาว กางเกงขายาว
– ไม่สวมกางเกงขาสั้น ขาสามส่วน และไม่คาดผ้าขาวม้า
2. สุภาพสตรี
– สวมเสื้อผ้าชุดสีขาว กางเกงขายาวสีขาว ไม่สวมใส่กางเกงขาสั้น,ขาสามส่วน
– ไม่สวมเสื้อผ้ารัดรูป เสื้อไม่มีแขน เสื้อบาง เสื้อคอกว้าง
– นุ่งผ้านุ่งยาวสีขาว และห่มสะไบ เมื่อเข้าฟังธรรม และสอบอารมณ์
* สุภาพบุรุษและสุภาพสตรีไม่สวมชุดนอน เสื้อผ้าสีฉูดฉาด มีลวดลายและมีตัวหนังสือบนเสื้อและกางเกงขาสั้นออกมาเดินนอกกุฏิ

-0

สิ่งอำนวยความสะดวก

1.ที่จอดรถ

  • ที่จอดรถสำหรับผู้สูงอายุ/ผุ้พิการ
  • ที่จอดรถสำหรับสุภาพสตรี

2.ทางเดิน/บันได

  • ทางลาดสำหรับรถเข็น
  • ราวจับบันได
  • ลิฟท์
  • ทางเดินกว้าง (easy walk in access)
  • ราวจับทางเดิน
  • พื้นไม่ลื่น

3.ห้องน้ำ

  • ห้องน้ำคนพิการ/คนสูงอายุ (wheelchairเข้าได้)
  • ต้องขึ้นบันไดเพื่อไปห้องน้ำ
  • ชักโครก (แบบนั่ง)
  • ราวเกาะ
  • พื้นไม่ลื่น

4.สิ่งอำนวยความสะดวกพิเศษ

  • มีรถเข็น wheelchair / ไม้เท้า บริการ

Leave a Reply