ร่างกายของคนเราก็เหมือนกับทุกชีวอินทรีย์ในโลก คือมีการเสื่อมสภาพไปตามอายุไข ดังนั้นเมื่อเข้าสู้วัยสูงอายุหรือวัยชรา ร่างกายย่อมเกิดการทำงานที่ผิดปกติ หรือด้อยประสิทธิภาพในการทำงาน อันเป็นเหตุก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆขึ้นมาได้ง่าย ดังนั้น วัยสูงอายุนี้จึงเป็นวัยที่ร่างกายมีความไวต่อสิ่งแวดล้อมภายนอกมากกว่าวัยอื่นๆ และเป็นวัยทีมีโอกาสเจ็บป่วยได้มาก หากใช้ชีวิตไม่ถูกสุขลักษณะ ทั้งในช่วงวัยชราเองหรือสะสมมาตั้งแต่วัยรุ่น วัยทำงาน ซึ่งส่งผลให้ลักษณะของอาการผิดปกติของร่างกายอาจแสดงออกเมื่อเข้าสู่วัยชราก็เป็นได้
โรคหนึ่งที่ถือว่าเป็นโรคที่น่ากลัวสำหรับผู้สูงอายุคือ “โรคความดันโลหิตสูง” ซึ่งโรคความดันโลหิตสูงนี้นับเป็นหนึ่งในปัญหาสาธารณสุขสำคัญที่กำลังคุกคามโลก โดยในปัจจุบันมีประชากรหลายร้อยล้านคนทั่วโลกเป็นโรคความดันโลหิตสูง และมีการคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2568 ผู้มีภาวะความดันโลหิตสูงจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 พันล้านคน อนึ่ง การวัดค่าความดันที่อยู่ในเกณฑ์ความดันโลหิตสูง ต้องมีค่าเท่ากับหรือมากกว่า 140-159 (ตัวบน) หรือ 90-99 ตัวล่าง อย่างไรก็ตามค่าความดันโลหิตในแต่ละคนแต่ละช่วงเวลานั้นเป็นค่าที่ไม่คงที่ อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา การวัดความดันโลหิตซ้ำอาจไม่เท่ากันเสมอไปเป็นเรื่องปกติ (แต่ก็ไม่ควรที่จะแตกต่างกันมากนัก)
ทั้งนี้ ค่าความดันโลหิตยังขึ้นอยู่กับท่าทางของผู้ป่วยด้วย เช่นท่านอนจะทำให้ค่าความดันโลหิตสูงมากกว่าท่ายืน อีกทั้งยังขึ้นกับตัวแปรอื่นๆภายนอก เช่น การสูบบุหรี่ อาหาร กิจกรรมที่ทำอยู่ รวมทั้งจิตใจด้วย นอกจากนี้ อาการอย่างหนึ่งที่ทำให้ค่าความดันโลหิตผิดเพี้ยนได้ เรียกว่าภาวะ White Coat Hypertension หรือ Isolated Clinic Hypertension คือภาวะความดันโลหิตสูงปลอม คือผู้ป่วยไม่ได้มีความดันโลหิตสูงตลอดเวลา แต่เมื่อมาวัดความดันโลหิตที่โรงพยาบาลกลับมีค่าที่สูงกว่าปกติ ดังนั้นการวัดค่าความดันโลหิตที่โรงพยาบาลเพียงครั้งเดียวหรือสองครั้งอาจทำให้การวินิจฉัยโรคผิดเพี้ยนไปได้ ดังนั้นจึงควรวัดความดันโลหิตตลอด 24 ชั่วโมงทั้งก่อนนอนและตื่นนอน เพื่อดูแบบแผนของความดันโลหิตว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร แล้วเอามาเปรียบเทียบกันทั้งกลางวันและกลางคืนเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องต่อการวินิจฉัยโรคของแพทย์ และการเตรียมปฏิบัติตัวของผู้ป่วยหากเป็นโรคความดันโลหิตสูงจริงๆ
อาการของโรค
เนื่องจากความดันโลหิตนั้นเป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง ไม่แสดงอาการชัดเจน ทำให้คนมักละเลยไม่สนใจ หรือในบางคนทราบว่าตนเป็นโรคความดันโลหิตสูง แต่ก็ไม่กระตือรือร้นที่จะรักษาเพราะร่างกายไม่รู้สึกเจ็บป่วยอะไร นอกจากนี้การรักษายังต้องทำอย่างต่อเนื่อง เช่นการรับประทานยาลดความดัน หากเลิกรับประทานเมื่อไหร่ความดันอาจกลับมาสูงอีกครั้ง ดังนั้นค่าใช้จ่ายในการเข้ารับการรักษาและค่ายาอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้คนเลือกที่จะละเลยอาการของโรคที่ไม่แสดงออกนี้ไปได้ซึ่งการปล่อยให้ความดันโลหิตสูงเป็นเวลานานนั้นเป็นอันตรายอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงแต่ละเลยที่จะเข้ารับการรักษาจนปล่อยให้ความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานาน อาการเริ่มต้นที่ผู้ป่วยจะได้พบคือ หัวใจเต้นแรง ตื่นเต้น นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ หากค่อนข้างรุนแรงจะมีอาการปวดศีรษะบริเวณท้ายทอยในตอนเช้า คลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ ตามัว อ่อนเพลียและใจสั่น นอกจากนี้ อาจมีอาการแทรกซ้อนในอวัยวะต่างๆของร่างกายเช่นหลอดเลือดแดงโป่งพอง อุดตัน หัวใจทำงานหนัก ไตเสื่อม สายตาเสียหรือตาบอดได้
การรักษาโรค
การรักษาโรคความดันโลหิตสูงนี้สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแรกคือการรักษาที่ใช้ยา ซึ่งปัจจุบัน ยารักษาความดันโลหิตมีอยู่หลายกลุ่ม แต่ละชนิดมีกลไกการออกฤทธิ์แตกต่างกันออกไป นอกจากนี้ ราคาก็แตกต่างกันมาก โดยยาลดความดันโลหิตที่ดี ควรออกฤทธิ์ช้าๆ ไม่ควรทำให้ความดันโลหิตแกว่งขึ้นลงมากจนเกินไป และสามารถควบคุมความดันโลหิตได้ตลอด 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามยาทุกตัวมักมีข้อดี ข้อด้อย และผลแทรกซ้อนทั้งสิ้น
นอกจากนี้ ผู้ป่วยไม่ควรหาซื้อยารับประทานเอง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร นอกจากนี้ไม่ควรเปลี่ยนแพทย์ไปเรื่อยๆ เพราะจะทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง การรักษาส่วนที่ 2 คือการรักษาโดยไม่ใช้ยา โดยการปฏิบัติตนไม่ให้เสี่ยงต่อการทำให้อาการของโรคร้ายแรงยิ่งขึ้น เช่น การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การไม่สูบบุหรี่ การงดรับประทานอาหารที่มีรสชาติเค็มจัด การลดน้ำหนัก การพักผ่อนที่เพียงพอ และการผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจจะเป็นสิ่งที่ทำให้ร่างกายสามารถดำรงอยู่ได้อย่างปกติสุขระหว่างเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้
ข้อเสนอแนะ/ความเห็นเพิ่มเติม
สำหรับกลุ่มข้าพเจ้ามองว่า ความดันโลหิตเป็นโรคที่น่ากลัวเพราะเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาดโดยเฉพาะกับผู้สูงอายุที่ร่างกายอ่อนแอ ดังนั้นความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุจึงถือเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นต้องรักษา อย่างไรก็ตาม การรักษาต้องเป็นไปอย่าระมัดระวังอย่างยิ่ง เนื่องจากหากลดความดันโลหิตมากเกินไปก็อาจเกิดผลเสียขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเสี่ยงที่เป็นโรคที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เช่น กรรมพันธุ์ ชาติพันธุ์ที่มีแนวโน้มมีอาการดังกล่าวสูง การรักษาที่มีประสิทธิภาพคือการปฏิบัติตนให้ไม่อยู่ในความเสี่ยงที่จะทำให้โรคมีการแย่ลงควบคู่ไปกับการใช้ยา โดยการออกกำลังกายเป็นการปฏิบัติตัวในรูปแบบหนึ่งที่มีประโยชน์และมีผลต่อการลดระดับความดันโลหิต ทั้งยังเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ดีของผู้ป่วยด้วย นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรมีส่วนร่วมในการควบคุมความดันโลหิตด้วยตนเองซึ่งจะส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นลดปริมาณยาที่ใช้ในการลดความดันได้โดยเปลี่ยนมาเป็นการทำพฤติกรรมที่ดีดังกล่าวให้คงไว้
ความดันโลหิตสูงนั้นมีความสัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ข้าพเจ้ามองว่ายังสัมพันธ์กับพื้นที่ที่อยู่อาศัยอีกด้วย โดยจะพบผู้ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากในเขตกรุงเทพมหานครและภาคกลาง เนื่องจากความเครียดอันมีสาเหตุมาจากสภาพแวดล้อม สภาพอาการภายในเมือง ในปัจจุบันนี้มีผู้สูงอายุจำนวนมากที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงแต่ไม่ได้รับการรักษาไม่ใช่แค่ในตัวเมืองเท่านั้น แต่ยังมีผู้สูงอายุกลุ่มอื่นที่ไม่ได้อาศัยในตัวเมืองแต่ไม่ทราบว่าตนเป็นโรคความดันโลหิตสูงเนื่องจากความรู้น้อย และการเข้าถึงระบบบริการทางสุขภาพเช่นโรงพยาบาล หรือคลินิกเป็นไปอย่างยากลำบากด้วยสถานภาพทางเศรษฐกิจหรือความห่างไกลจากความเจริญ
สำหรับผู้ที่ทราบว่าตนเองกำลังเป็นโรคความดันโลหิตสูงนั้นก็ไม่ควรที่จะตื่นตระหนก หมดกำลังใจในการรักษาหรือคิดว่าไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้ เนื่องจากโรคดังกล่าวเป็นโรคที่ถึงแม้จะไม่สามารถรักษาได้ แต่ก็เป็นกันมากในผู้สูงอายุจนแทบจะไม่ถือว่าเป็นโรคที่ร้ายแรงหรือแปลกใหม่อะไร นอกจากนี้วิทยาการทางการแพทย์ยังสามารถประคองอาการด้วยยาไม่ให้อาการทรุดลงไป และทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้ อย่างไรก็ตาม ตัวผู้สูงอายุเองก็ต้องมีส่วนช่วยในการดูแลสุขภาพของตนเองด้วยการปรับพฤติกรรมใช้ชีวิตอย่างถูกต้องเหมาะสม ซึ่งถ้าสามารถรักษาควบคุมให้ความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ที่ปกติได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ไม่ละเลย ไม่ประมาท ก็จะมีโอกาสลดการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ต่อหัวใจ สมอง และไตได้
ที่สำคัญคือการได้รับการสนับสนุนและกำลังใจจากบุคคลรอบข้างเช่น หมอ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ที่ช่วยชี้แนะให้คำแนะนำ การปลอบใจ หรือแสดงให้เห็นว่ายังมีทางออกที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกหลาน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการต่อสู้กับโรคไม่ว่าจะเป็นโรคความดันโลหิตหรือโรคใดๆก็ตาม เพราะหากผู้สูงอายุหมดกำลังใจในการต่อสู้ จะส่งผลต่อร่างกายให้อาการของโรคยิ่งทรุดหนักลงไปอีก
ปัญหาความดันโลหิตสูงนั้นไม่ใช่ปัญหาแค่ในระดับปัจเจกคือผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตเท่านั้น แต่โรคความดันโลหิตสูงเป็นปัญหาความเจ็บป่วยที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่บุคลากรทางด้านสาธารณสุขทุกฝ่าย จำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อให้คำแนะนำและส่งเสริมให้ผู้ป่วยได้ปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเพื่อให้สามารถควบคุมโรคได้ดีทั้งบุคคลที่เป็นโรคอยู่ ณ ปัจจุบัน และการให้ความรู้แก่เยาวชนไม่ให้ประพฤติตนให้อยู่ในความเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูงในอนาคต เพื่อที่จะควบคุมระดับความดันโลหิต เพื่อลดอุบัติการณ์ของภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงต่างๆที่เกิดขึ้นตามมา
แหล่งข้อมูล : pharm.chula.ac.th
+0 -0
สิ่งอำนวยความสะดวก
1.ที่จอดรถ
- ที่จอดรถสำหรับผู้สูงอายุ/ผุ้พิการ
- ที่จอดรถสำหรับสุภาพสตรี
2.ทางเดิน/บันได
- ทางลาดสำหรับรถเข็น
- ราวจับบันได
- ลิฟท์
- ทางเดินกว้าง (easy walk in access)
- ราวจับทางเดิน
- พื้นไม่ลื่น
3.ห้องน้ำ
- ห้องน้ำคนพิการ/คนสูงอายุ (wheelchairเข้าได้)
- ต้องขึ้นบันไดเพื่อไปห้องน้ำ
- ชักโครก (แบบนั่ง)
- ราวเกาะ
- พื้นไม่ลื่น
4.สิ่งอำนวยความสะดวกพิเศษ
- มีรถเข็น wheelchair / ไม้เท้า บริการ