เป็นที่ทราบกันดีว่าในระยะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงที่เรียกว่าประชากรผู้สูงอายุ แล้วในขณะเดียวกันการเติบโตของเมืองก็อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเช่นกัน คือ พื้นที่ที่เคยเรียกว่า “ชนบท” จะถูกพัฒนาเป็นเมืองเพิ่มขึ้น โดยทั่วโลกมีการประมาณกันว่าครึ่งหนึ่งเป็นเมืองและอีกครึ่งหนึ่งจะเป็นชนบท แต่วิถีความเป็นเมืองก็จะแทรกซึมไปทั่วอันเนื่องมาจากความเจริญในด้านเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสารต่างๆ และ ในความเป็นเมืองนั้น มีการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่ควบคู่ไปกับความเจริญอื่นๆ คือ การสร้างถนนเชื่อมต่อและการขยายถนน
เพื่อให้เกิดการสัญจรที่สะดวกเพิ่มขึ้น หากพิจารณาภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุแล้ว ประเด็นเรื่องความเป็นเมืองจัดเป็นตัวบ่งชี้ที่มีผลต่อสุขภาพของผู้สูงอายุเช่นกัน เพราะสภาพทางร่างกายของผู้สูงอายุเข้าสู่วัยเสื่อมถอย โดยเฉพาะในการเคลื่อนไหวร่างกาย การเปลี่ยนอิริยาบทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการลุกนั่ง การเดิน การลงนอน การยกของหรือหยิบจับสิ่งของต่างๆ ที่เริ่มมีความยากลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพ จึงทำให้มีผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ
ดังนั้น การดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมทางกายภาพของเมืองนั้น ต้องคำนึงถึงสภาวะสุขภาพผู้สูงอายุด้วย ที่ทำอย่างไรจึงจะจัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมให้กับผู้สูงอายุด้วย เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น ในอันที่จะช่วยทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดี และ/ หรือมีความสุขในบั้นปลายของชีวิต
บทความนี้จึงขอนำเสนอแนวคิดการจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพผู้สูงอายุตามแนวคิดการปรับสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพของ Burton (2012) ดังนี้
1. การจัดสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุออกกำลัง ได้แก่ การจัดให้มีพื้นที่สีเขียว การจัดมุมพักผ่อนตามถนนทางเชื่อมและทางเดินต่างๆ การสร้างทางเดินที่ราบเรียบสะดวกสบาย การจัดบริการสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในชุมชน จะกระตุ้นให้ผู้สูงอายุออกมาพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น การออกมาทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกันกับเพื่อนบ้านมากขึ้น เป็นต้น
2. การจัดสิ่งแวดล้อมในที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับผู้สูงอายในการดำเนินชีวิต ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตอยู่กับบ้านมากกว่าการออกไปนอกบ้าน การจัดสิ่งแวดล้อมทางกายภาพของบ้านต้องคำนึงถึงสภาพร่างกายและการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุด้วย เช่น การสร้างบ้านจะต้องสร้างตามมาตรฐานที่อยู่อาศัยในแต่ละช่วงชีวิต (Lifetime Homes Standard) โดยสำหรับผู้สูงอายุนั้น ควรมีการทำทางลาด ราวบันได ราวจับในห้องน้ำเพื่อป้องกันการลื่นล้ม เป็นต้น การดูแลให้ผู้สูงอายุมีความอบอุ่น โดยป้องกันไม่ให้สัมผัสกับอากาศที่เย็นหรือร้อนเกินไป สิ่งนี้เป็นประเด็นร้อนทางสุขภาพ เพราะพบว่ามีรายงานจำนวนการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากการอยู่ในที่เย็น และผู้สูงอายุเป็นส่วนหนึ่งของภาวะเสี่ยงนี้ สิ่งที่ควรดำเนินการ คือ การปรับปรุงให้มีฉนวนกันความร้อนและการเพิ่มพลังงานที่มีคุณภาพภายในบ้านเรือนจะเป็นผลลัพธ์ทางบวกให้แก่สุขภาพ
สำหรับผู้สูงอายุในกลุ่มอาการสมองเสื่อม อาการหลงลืม สับสน และนอนหลับยาก การจัดสิ่งแวดล้อมในบ้านเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรคำนึงถึง เช่น พื้นบ้านควรหลีกเลี่ยงรูปแบบหรือลวดลายที่มากเกินไป การเลือกสีทาผนังและพื้นห้องควรเลือกสีที่แตกต่างกัน เพื่อให้สามารถมองเห็นความแตกต่างระหว่างพื้นและผนังห้อง การเพิ่มประสิทธิภาพของแสงธรรมชาติและ ระดับแสงจากแสงประดิษฐ์ให้เพียงพอ เป็นต้น
3. การจัดสิ่งแวดล้อมในที่สาธารณะให้เอื้อต่อสุขภาพผู้สูงอายุ เช่น การทำทางเดินที่ราบเรียบ ทางลาด ลิฟท์ขึ้นอาคารสถานที่ต่างๆ ราวจับบันได ห้องน้ำสาธารณะ ที่นั่งพักผ่อน และอุปกรณ์ช่วยเหลืออื่นๆ เป็นต้น อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพของผู้สูงอายุโดยการคำนึงถึงความแปรเปลี่ยนของสิ่งแวดล้อมและสภาวะของผู้สูงอายุเอง ดังนี้
1) การป้องกันสภาวะที่ส่งผลต่อการเจ็บป่วยในทางเดินหายใจและภูมิแพ้ต่างๆ เพราะมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าปัจจัยต่างๆ เหล่านี้มีอิทธิพลต่อสุขภาพ ได้แก่ ระดับความเป็นเมือง ปัญหาการจราจร ความหนาแน่นของยวดยานพาหนะ ความหนาแน่นของที่อยู่อาศัย การระบายอากาศที่ไม่ดี
2) การลดปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทั้งในบ้านและนอกบ้าน ความเสี่ยงและผลจากการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ เกิดจากการออกแบบทางเดินที่ขาดความใส่ใจในความปลอดภัย เช่น การมีพื้นผิวที่ขรุขระ ความแคบของถนน บันไดไม่มีที่เกาะ มีความแคบและชัน เป็นต้น
3) การปรับแนวคิดจากการเพิ่มระยะเวลาของการมีชีวิตอยู่ เป็นการมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพ เนื่องจากคนเราควรจะต้องให้ความสนใจว่า “ทำอย่างไรที่จะทำให้ผู้สูงอายุอยู่เย็นเป็นสุข มีสุขภาวะหรือมีคุณภาพชีวิต” ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้โดยส่วนหนึ่ง คือ การสร้างสิ่งแวดล้อม โดยเป้าหมายที่สำคัญ คือ การส่งเสริมให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม อันเป็นหนทางหนึ่งในการป้องกันความโดดเดี่ยว การแยกตัวรวมทั้งความเหงา
การตบแต่งที่อยู่อาศัยหรือการออกแบบจำเป็นต้องคำนึงถึงประตูทางเข้าควรเปิดออกสู่ถนนได้ การจัดให้มีพื้นที่ระหว่างหน้าบ้านกับถนน และต้องมั่นใจได้ว่ามีพื้นที่ที่เป็นจุดเชื่อมโยงให้มีการปฏิสัมพันธ์กันได้ เช่น รั้วบ้านโปร่ง ไม่เป็นรั้วปิด หรือมีรั้วที่สูงเกินไป การสร้างสิ่งแวดล้อมสามารถออกแบบให้ลดภาวะเครียดหรือสร้างโอกาสให้หายจากภาวะเครียดได้ เช่น การจัดสรรพื้นที่สีเขียว การสร้างภูมิทัศน์ที่สวยงาม การเพิ่มแสงธรรมชาติในเวลากลางวัน และมีความเพียงพอ การมีฉนวน หรือกันชนด้วยวัตถุ วัสดุ หรือต้นไม้ เพื่อกันเสียงดังระหว่างภายนอกกับภายในบ้านเรือน การเพิ่มความอยู่ดีมีสุขของผู้สูงอายุโดยคำนึงถึงความปลอดภัย โดยเฉพาะอาชญากรรม โดยการออกแบบต้องคำนึงถึงอย่างมาก คือ ความระมัดระวังต่อพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนบุคคล หน้าต่าง ประตูที่เปิดออกสู่ถนน รวมทั้งการมีไฟส่องสว่างที่เพียงพอในถนนต่างๆ
ความท้าทาย คือ ในระยะนี้ยังไม่มีกุญแจหลักในการที่จะนำพาผู้สูงอายุไปยังการเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาวะดีได้อย่างชัดเจน ดังนั้น สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น จึงมีความหลากหลายที่สามารถนำไปพิจารณาต่อยอดได้ ปัญหาคือมุมมองจากการสร้างสิ่งแวดล้อม การออกแบบที่แตกต่างกันไป อาจนำไปสู่ข้อโต้แย้งต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การเชื่อมโยงกับประเด็นอื่นๆ ได้ สำหรับกรณีนี้ สิ่งที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่ การแสวงหาหลักฐานเชิงประจักษ์ การออกแบบสิ่งแวดล้อมเพื่อผู้สูงอายุ
การออกแบบมากเกินอาจส่งผลในทางที่ไม่ดีเกิดขึ้นได้ เกี่ยวกับความต้องการการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุหรือการออกแบบที่ปราศจากการใช้องค์ความรู้ทางด้านผลกระทบต่อสุขภาพ การศึกษาวิจัยจึงมีความจำเป็นทั้งในเชิงการศึกษาและการใช้การศึกษาเชิงทดลองในธรรมชาติ เพื่อชี้นำในสิ่งที่ดีอันเป็นผลต่อสุขภาพ
ข้อมูลโดย : จุลสารสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
+0 -0
สิ่งอำนวยความสะดวก
1.ที่จอดรถ
- ที่จอดรถสำหรับผู้สูงอายุ/ผุ้พิการ
- ที่จอดรถสำหรับสุภาพสตรี
2.ทางเดิน/บันได
- ทางลาดสำหรับรถเข็น
- ราวจับบันได
- ลิฟท์
- ทางเดินกว้าง (easy walk in access)
- ราวจับทางเดิน
- พื้นไม่ลื่น
3.ห้องน้ำ
- ห้องน้ำคนพิการ/คนสูงอายุ (wheelchairเข้าได้)
- ต้องขึ้นบันไดเพื่อไปห้องน้ำ
- ชักโครก (แบบนั่ง)
- ราวเกาะ
- พื้นไม่ลื่น
4.สิ่งอำนวยความสะดวกพิเศษ
- มีรถเข็น wheelchair / ไม้เท้า บริการ